เนื้อหาข่าว : ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับเรื่อง กินยาเขียวแทนยาพาราเซตามอล ถูกและดีต่อตับมากกว่า โดยมีเนื้อหาระบุว่า เมื่อเราเป็นไข้ ปวดหัว ปวดท้อง ปวดเนื้อปวดตัว ปกติเราจะกินแต่ยาพาราเซตามอลแต่ยาพาราเซตามอลนั้น มีผลเสียต่อตับมากกว่าผลดี โดยชักชวนให้หันมากินยาเขียวซึ่งเป็นสมุนไพร และอ้างข้อมูลจากเพจหมอสมุนไพร นอกจากนี้ยาเขียวยังช่วยบำรุงตับ บำรุงร่างกาย ไม่สร้างผลเสียเหมือนยาทั่วไปที่เรากินอีกด้วย
ที่มารูปภาพ : https://www.antifakenewscenter.com/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-กินยา/
บทสรุป : ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากที่มีการแชร์ว่าหากเจ็บป่วย เป็นไข้ ให้กินยาเขียว เพราะว่านี้มีผลเสียต่อตับน้อย และราคาถูกกว่ายาพาราเซตามอล หายแล้วปลอดภัยแน่นอน ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวว่า ยาเขียวมีหลากหลายสูตรมาก เช่น ยาเขียวหอม ยาเขียวใหญ่ ราคาก็จะแปรผันไปตามสูตรส่วนประกอบที่ใช้ บางตำรับอาจมีราคาแพงกว่ายาพาราเซตามอลได้ ซึ่งปกติยาเขียวจะใช้ส่วนประกอบของใบไม้ที่มีฤทธิ์ออกไปทางสุขม เย็นเป็นหลัก เช่น ใบพิมเสนต้น ใบสมี จึงจะใช้ แก้ไข้ หัด เหือด สุกใส เป็นหลัก และส่วนที่บอกว่ายาเขียวไม่เป็นพิษต่อตับนั้น ขอให้ข้อมูลว่าการใช้สมุนไพรบางชนิดเป็นเวลานานก็อาจมีผลต่อตับได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นที่บอกว่ากินยาเขียวแทนยาพาราเซตามอล ถูกและดีต่อตับมากกว่า จึงไม่เป็นความจริงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
รูปแบบเนื้อหาข่าว : ข่าวปลอมระดับที่ 5 เนื้อหาแอบอ้าง (Impostor) คือ มีเนื้อหาข่าวที่มีการแอบอ้าง แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น จากผลงานวิจัย… จากหลายที่มา ทำให้ผู้ที่รับสารมีความรู้สึกว่าข่าวที่รับรู้มีความน่าเชื่อถือ และอาจจะนำสิ่งที่ข่าวแนะนำไปปฏิบัติตาม
1. พิจารณาการพาดหัวข่าว
ข่าวปลอมมักมีข้อความพาดหัวที่สะดุดตาที่ ใช้ตัวหนา และมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!)
2. พิจารณาจากเนื้อหาข่าว
ถ้าพิจารณาเนื้อหาข่าวให้ถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่ามีเนื้อหาที่อ้างถึงงานวิจัยต่างๆ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นงานใด ของใคร ดังนั้น เมื่อเรารับรู้ข่าวสารลักษณะนี้แล้ว ต้องทำการตรวจสอบก่อนว่ามีข้อเท็จมากน้อยแค่ไหน เพราะมีความคลุมเคลือในเนื้อหาข่าว